…เมื่อมีใครพูดถึง คำว่า โรงเรียนใหญ่ หลายคนคงนึกถึง โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ เป็นโรงเรียนที่มีบุคคลากรทางการศึกษา และมีนักเรียนที่เข้าศึกษาจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานครหรือโรงเรียนประจำจังหวัด แต่โรงเรียนใหญ่ที่ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านให้รู้จักในที่นี้คือ โรงเรียนที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ และเป็นเมืองที่มีการบริโภคทรัพยากรอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ เป็นต้น
แล้วโรงเรียนใหญ่ เกี่ยวอะไรกับ คำว่า รอยเท้าเล็ก คุณผู้อ่านคงสงสัยใช่มั้ยครับ? รอยเท้าเล็กในที่นี้คือ พฤติกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา ซึ่งมาจากคำว่า รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณคาร์บอนที่คนแต่ละคนปล่อยออกมาสู่โลก จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การรับประทานอาหาร ก็เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอน การเดินทางของเราก็เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอน รอยเท้าคาร์บอนก็คล้ายๆ กับว่าเราได้ฝากรอยเท้าของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไว้กับโลกใบนี้ ยิ่งเรามีรอยเท้าคาร์บอนใหญ่ ก็แสดงว่าเราปล่อยคาร์บอนมาก พอที่จะเข้าใจแล้วใช่มั้ยครับ…
โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก เป็นโครงการด้านพลังงาน ที่เกิดจากการต่อยอดโครงการรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมงให้โลกพัก หรือ Earth Hour ที่เชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนผ่านสัญลักษณ์การปิดไฟ 1 ชั่วโมง และกระตุ้นให้ทุกคนแสดงเจตนารมณ์ว่าจะทำสิ่งที่มากกว่าการปิดไฟเพียงหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2555 กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับภาคธุรกิจอีกหลายองค์กร ได้ดำเนินโครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก หรือ Low carbon School network” ขึ้น
เป้าหมายโครงการฯ มุ่งหวังที่จะให้โครงการถ่ายทอดแนวคิด และแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้กับนักเรียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า และลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ตอนนี้คุณผู้อ่านคงเข้าใจแล้วใช่มั้ยครับ กับคำว่าโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก ที่ทุกคนสามารถมีรอยเท้าคาร์บอนเล็กได้ จากการช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงเท่านี้เองท่านก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเมืองของเราให้เป็นเมืองคาร์บอนได้ต่ำได้แล้วนะครับ
|
||